วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

11 ไผ่


ไผ่ มีชื่อบาลีว่า “เวฬุ” “ตจสาโร” “เวณุ” และ “วํโส” (วัง –โส) มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่ 2 ครั้ง


หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารได้ฟังธรรมที่สวนตาลหนุ่มแล้ว ได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมพระสาวก ไปรับพระกระยาหารเช้าที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่พระพุทธองค์เสวยเสร็จ พระเจ้าพิมพิสารได้ทูลว่า ที่สวนตาลหนุ่มอยู่นอกเมือง การเดินทางลำบาก ทรงใคร่ถวายพระราชอุทยานสวนไม้ไผ่ ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ และที่อยู่ของสงฆ์


พระพุทธองค์ทรงรับด้วยพระอาการดุษณี พระเจ้าพิมพิสารจึงหลั่งน้ำจากพระเต้าบนพระหัตถ์พระพุทธองค์ เพื่อเป็นการถวายสวนไผ่ ให้เป็นวัดในพุทธศาสนาแห่งแรก


นอกจากนี้ พระเจ้าพิมพิสารยังโปรดให้ขุดสระน้ำการันธะขึ้น เพื่อให้พระพุทธองค์ได้สรงน้ำด้วย



สวนไผ่แห่งนี้ เดิมเป็นที่ประพาสของกษัตริย์ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กลันทกนิวาปสถาน” หรือสถานเลี้ยงกระแต เนื่องจากกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จมาบรรทมพักที่นั่น พระองค์สะดุ้งตื่นเพราะเสียงกระแตดังเจี๊ยวจ๊าว จึงทอดพระเนตรเห็นอสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยมายังที่บรรทม ทรงรอดชีวิตจากอสรพิษเพราะเสียงกระแต จึงพระราชทานทุนทรัพย์สำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแตเรื่อยมา



อีกเหตุการณ์คือ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาแล้ว ในคืนวันเพ็ญเดือนสาม พระสาวกจำนวน 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันที่วัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย ( พระสารีบุตร บรรลุอรหันต์ในวันนั้นพอดี)



พระพุทธองค์เห็นเป็นโอกาสดี จึงทรงแสดง “ โอวาทปาฏิโมกข์” หรือพระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ 13 ประการคือ


“ การไม่ทำชั่วทั้งปวง


การทำความดีให้พร้อม


การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสั่งสอนขะงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ขันติคือความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง


พระนิพพานพระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่าสูงสุด


ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นบรรพชิต


ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นสมณะ


การไม่ว่าร้ายเขา


การไม่เบียดเบียนเขา


การเคร่งครัดในพระธรรมวินัย


การรู้จักประมาณในการบริโภค


การอยุ่ในสถานที่สงบสงัด


และการฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูงเสมอ


นี้เป็นคำสอนของระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ชาวพุทธยึดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนา คือวัน “มาฆะบูชา” นั่นเอง


...............................................................................


อ้างอิงเรื่อง และรูป


เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ


เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา เกษมอนันต์พริ้นติ้ง 02-809-7452-4


ศาสตรจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ไม้พุทธประวัติ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชวังดุสิต กรุงเทพ


พาโนรามา ตามรอยพระพุทธเจ้า อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ 65/60-62 ถ.ชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพ 10170

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น