วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

2 สาละ


สาละ เป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ทั้งในยามประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ต้นสาละที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัตินี้ คือสาละอินเดียที่ชาวอินเดียเรียกต้น “ Sal” อยู่ในวงศ์ Shorea robusta Roxb. เนื่องจากมีสาละอีกต้น เรียก สาละลังกา อยู่ในวงศ์จิก



เมื่อครั้งพระมาดาพระครรภ์แก่ใกล้คลอด ตามธรรมเนียมจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านเกิด จึงเดินทางจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปยังกรุงเทวทหะ พอขบวนเสด็จถึงพระราชอุทยานชื่อ “ลุมพินีวัน” อันเป็นสถานที่พักผ่อนระหว่างทาง เนื่องจากระยะทางระหว่างเมืองทั้งสองค่อนข้างไกล ไม่สามารถเดินทางถึงกันได้ภายในวันเดียว ได้ทรงเข้าไปพักผ่อนพระวรกายในสวน และเกิดประชวรพระครรภ์ จึงมีประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะในที่นั้น ในวันเพ็ญกลางเดือนหกนั้นเอง



ลุมพินีวัน ซึ่งต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้สร้างเสาอโศกขึ้น และจารึกด้วยอักษรพราหมณี ว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์

เจ้าชายพระนาม “ สิตธัตถะ” อันแปลว่า สมปรารถนา ซึ่งต่อมาเป็นพระผู้ปลดปล่อยมนุษย์จากความเข้าใจที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยการดลบันดาลจากเทพเจ้า เป็นการดึงมนุษย์จากเทพ มาสู่ธรรม จากการสวดอ้อนวอน มาสู่การปฏิบัติ


และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช หลังจากที่ทรงศึกษากับพระอาจารย์ทั้งสอง คืออาฬารดาบส และอุทกดาบส จนสิ้นความรู้พระอาจารย์ ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ (ที่ทรงศึกษาคือสมถะกรรมฐาน ซึ่งเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตให้ความเห็นว่า ในสมัยนั้นมีโยคีมากมาย แต่ไม่มีใครตรัสรู้ เป็นพุทธะ เพราะการปฏิบัติมีเพียง ศีล สมาธิ แต่ขาดปัญญา) จึงทรงลาพระอาจารย์ไปหาแนวทางเอง จนมาพบที่แห่งหนึ่งเรียกว่า “อุรุเวลาเสนานิคม” เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะ เพราะร่มรื่น อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา มีท่าให้ลงอาบ มีหมู่บ้านคนไม่ไกล เหมาะที่นักบวชจะอาศัยบำเพ็ญพรตและบิณฑบาต



คำว่า “อุรุเวลา” แปลว่ากองทราย “เสนานิคม” แปลว่าตำบล หรือหมู่บ้าน ในอดีต ที่แห่งนี้เป็นที่ที่นักพรตจำนวนมากมาบำเพ็ญพรต จึงมีการตั้งข้อบังคับ หรือระเบียบกันเอง ความผิดทางกายนั้นมองเห็นได้ แต่ความผิดทางใจ จะไม่มีผู้อื่นใดล่วงรู้ จึงตั้งกฎว่า ถ้าใครคิดผิดแนวถือพรต เช่น เกิดความกำหนัดขึ้นมา ให้ลงโทษตัวเองด้วยการนำบาตรไปตักทรายมาเทกองไว้ คิดครั้งหนึ่ง ก็ตักทรายมาเทบาตรหนึ่ง เพื่อเป็นการประจานตัวเองให้ผู้อื่นรู้ จึงเกิดมีเนินทรายมากมาย เกลื่อนไปในตำบลแห่งนี้


ที่นี่ต่อมาเป็นที่รู้จักชื่อกันดีในนาม “พุทธคยา” นั้นเอง


ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาที่นั่น แต่ต่อมา ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงเลิกบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีนี้ จนปัญญจวัคคีย์ล้วนหลีกหนีไป


ในวันที่จะตรัสรู้ หลังจากที่ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาแล้ว ทรงนำถาดที่นางสุชาดาเชิญข้าวถวายไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา หลังจากนั้น เสด็ไปประทับที่ดงไม่สาละตลอดเวลากลางวัน ตกเย็น จึงเสด็จไปประทับที่ต้นโพธิ์ และตรัสรู้ที่นั่น



เมื่อครั้งพรรษาที่ 9 ของการประกาศพระศาสนา ประทับอยู่ที่วัดโฆษิตาราม กรุงโกสัมพี ช่วงนั้นสงฆ์ในวัดเกิดแตกสามัคคี จึงทรงตัดสินพระทัยเร้นพระองค์ไปอยู่ป่า ขณะทรงประทับอยู่ใต้ต้นสาละ ช้างเชือกหนึ่งชื่อ ปาริเลยยกะ เห็นพระองค์เข้าก็เลื่อมใส จึงมาถวายการอุปัฏฐากตลอดเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ในป่านั้น


เหตุการณ์สุดท้าย คือ เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว ต้องทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปถึง 3 เดือนเพื่อไปปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ( กรุณาย้อนดูสาเหตุในhttp://www.oknation.net/blog/nadrda2/2009/02/19/entry-1ค่ะ) เมื่อมาถึงชานเมืองกุสินารา ได้เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดี แล้วเสด็จเข้าไปในอุทยานนอกเมืองที่มีชื่อว่า “สาลวโทยาน”



ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้ปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละคู่ แล้วพระองค์ก็เสด็จบรรทมตะแคงด้านขวา ดำรงพระสติ ตั้งพระทัยจะเสด็บรรทมเป็นไสยาวสาน (นอนครั้งสุดท้าย) หรืออนุฐานไสยา (นอนโดยไม่ลุกขึ้นอีก)



ในเวลานั้น แม้ไม่ใช่ฤดูออกดอก แต่ต้นสาละทั้งคู่กลับผลิดอกออกบานตั้งแต่โคนรากเบื้องต้นถึงยอด และดอกสาละนั้น ก็ร่วงหล่นลงบูชาพระพุทธองค์


ดังนั้น หากจะกล่าวว่าสาละเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวพันกับพระพุทธองค์ตั้งแต่วันแรก จนวันสุดท้ายของพระชนมชีพ ก็คงไม่ผิดนัก



ส่วนสาละอีกสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่าสาละลังกาหรือ “ต้นลูกปืนใหญ่” (Cannonball Tree ) อยู่ในวงศ์จิก



ดูรูปร่างหน้าตาของผลสาละพันุ์นี้ สมชื่อเค้าจริงๆค่ะ


..................................................................


อ้างอิงเรื่อง และรูป


เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ


เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา เกษมอนันต์พริ้นติ้ง 02-809-7452-4


ศาสตรจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ไม้พุทธประวัติ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชวังดุสิต กรุงเทพ


พนิตา อังจันทรเพ็ญ พระพุทธประวัติ สมุดภาพจิตรกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ 81 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ธรรมสภา 1 / 4-5 ถ.บรมราชชนนีร เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น