วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

3 หว้า

หว้า ชาวฮินดูเรียก “จามูนะ” หรือ “จามาน” มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่ 3 ตอน



ในตอนแรก คือเมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 8 ชันษา ในปีนั้นพระบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะทรงเป็นพระยาแรกนาด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดให้พระราชโอรสเสด็จตามด้วย


ทรงประทับอยู่ใต้ต้นหว้า ซึ่งปฐมสมพธิเรียกว่า “ต้นชมพูพฤกษ์” เมื่อถึงเวลาแรกนา เหล่านางพระกำนัล ต่างชวนกันไปดูพระราชพิธีกันหมด ทิ้งพระองค์ไว้เพียงพระองค์เองใต้ต้นไม้ใหญ่ อันกวีท่านพรรณนาว่า “กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียวประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน” ด้วยพระทัยที่บริสุทธิ์ อันจะได้บรรลุโพธิญาณ เมื่อได้อยู่ในสถานอันวิเวก จึงเจริญสมาธิจนบรรลุ “ปฐมฌาน” เป็นครั้งแรกใต้ต้นหว้านั้นเอง



ขณะนั้นแม้เป็นเวลาบ่ายคล้อย เงาต้นหว้ากลับไม่ได้ทอดคล้อยตามแสงตะวันไป หากทิ้งลงใต้ต้นราวกับเป็นเวลาเที่ยงวัน พระพี่เลี้ยงซึ่งวิ่งกลับมาหาเจ้าชายสิทธัตถะเห็นดังนั้น จึงวิ่งกลับไปทูลพระราชบิดา


พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตร ถึงกับไหว้พระโอรสของพระองค์เองเป็นครั้งที่ 2 ด้วยความปิติในความอัศจรรย์


ต่อการที่พระราชบิดาวันทาพระโอรสนี้ มีเหตุให้เกิดขึ้น 3 ครั้ง



ครั้งแรกหลังจากที่เจ้าชายประสูติ อสิตดาบส หรือ กาฬเทวินดาบส ซึ่งเป็นฤาษีมีที่พำนักอยู่เชิงเขาหิมพานต์ หรือหิมาลัย ได้มาถวายพระพร เมื่อได้เห็นพระลักษณะเจ้าชายต้องตามตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ก็แสดงอาการผิดสมณะ 3 อย่างคือ ยิ้มแย้ม(บางที่ว่าหัวเราะ) ร้องไห้ และก้มลงกราบพระบาทพระราชกุมาร


ที่ท่านแย้ม เพราะบุรุษลักษณะเช่นนี้ หากเป็นฆราวาส จะเป็นมหาจักรพรรดิที่เกรียงไกร หากเป็นนักบวช จะได้เป็นศาสดาเอก ที่ท่านร้องไห้ เพราะท่านแน่ใจว่า เจ้าชายจะออกบวช และเสียดายที่ตนมีอายุไม่ยืนยาวพอที่จะได้ฟังธรรมที่ราชกุมารประกาศ และที่ท่านกราบพระกุมาร ก็ด้วยเหตุต่างๆเหล่านี้


พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อเห็นพระดาบสไหว้พระโอรส จึงไหว้ตาม นั้นเป็นครั้งแรก



ครั้งสุดท้ายคือเมื่อเสด็จกลับไปเยี่ยมพระราชบิดาตามคำอาราธนา นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์หลังจากที่ทรงตรัสรู้


อีกเหตุการณ์หนึ่งของต้นหว้าคือ หลังจากที่ทรงแสดงพระธรรมวินัยจนมีสาวกบรรลุพระอรหันต์ได้ 60 รูป ทรงส่งพระอรหันต์ทั้ง 60 รูปนั้นไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เอง ได้เสด็จกลับไปยังอุรุเวลาเสนานิคมอีกครั้ง เพื่อแสดงธรรมต่อชฎิล 3 พี่น้อง ซึ่งมีอิทธิพลต่อความเชื่อของประชาชนอย่างมากในช่วงเวลานั้น



ชฎิลพี่ชายใหญ่ คืออุรุเวลกัสสป ตั้งอาศรมบำเพ็ญพรต ประกาศตนเป็นพระอรหันต์ บูชาไฟอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราตอนเหนือ ได้ทูลนิมนต์ภัตตกิจ พระพุทธองค์ตรัสให้พระฤาษีเดินทางไปก่อน ในขณะนั้นเอง ทรงเหาะไปเก็บผลไม้ในป่าหิมพานต์ แล้วเสด็จไปถึงโรงเพลิง ก่อนที่พระฤาษีจะไปถึง



ในโรงไฟ ทรงปราบพญานาคที่อุรุเวลกัสสปบูชาจนสิ้นฤทธิ์ จนเวลาต่อมา ชฎิลทั้ง 3 พี่น้อง พากันเลิกพิธีบูชาไฟ หันมาเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยที่พระองค์ค้นพบ


หว้า คือหนึ่งในผลไม้ที่ทรงเก็บมานั้นเอง



อีกตอนหนึ่งคือหลังจากที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา แล้วยังไม่ทรงพบหนทางบรรลุโพธิญาณ ทรงมีพระดำริถึงเหตุการณ์ใต้ต้นหว้าเมื่อครั้งยังพระเยาว์ ว่าขณะนั้น ทรงอยู่ใต้ร่มเงาหว้าเพียงลำพังพระองค์ ทรงสงัดจาดกาม จากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานอันเกิดแต่ความวิเวก นั่นคงเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้กระมัง หากร่างกายผ่ายผอม จะบรรลุความสุขอย่างนั้นคงไม่ง่าย “ ถ้ากระไร เราพึงบริโภคอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดเถิด”



...................................................................


อ้างอิงเรื่อง และรูป


เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ


เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา เกษมอนันต์พริ้นติ้ง 02-809-7452-4


ศาสตรจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ไม้พุทธประวัติ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชวังดุสิต กรุงเทพ


พนิตา อังจันทรเพ็ญ พระพุทธประวัติ สมุดภาพจิตรกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ 81 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ธรรมสภา 1 / 4-5 ถ.บรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น